ไก่ชน คือ สายพันธุ์ไก่พื้นเมือง ซึ่งโดยทั่วไปประเภทของไก่พื้นเมืองสามารถจำแนกเป็นได้ 2 ประเภท คือ การเลี้ยงไว้เพื่อการฆ่าบริโภคเป็นอาหารและเลี้ยงไว้เพื่อต่อสู้ เพื่อสันทนาการ ไก่ชนนับเป็นสัตว์ที่มีความผูกพันกับคนในสังคมทุกชนชั้นมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ตามที่มีจารึกในประวัติศาสตร์แม้แต่ในราชสำนักสมัยสุโขทัยก็ยังมีการเลี้ยงไก่ชน ในวิถีชนบทไก่ชนก็เป็นหนึ่งในแหล่งอาหารของพวกเขา ซึ่งเราสามารถพบเห็นการเลี้ยงไก่ชนได้ทั่วไปในวิถีชีวิตประจำวันของสังคมเกษตรกรรม แต่บางสังคมโดยเฉพาะสังคมชาวพุทธ มีความเชื่อว่าการเล่นชนไก่ ถือเป็นกีฬาที่ทารุณและเป็นการทรมานสัตว์ เช่นเดียวกับการกัดปลาในกีฬาปลากัดและกีฬาชนวัว
กีฬาไก่ชนกับวิถีชีวิตของคนไทยในสมัยก่อน
สำหรับ กีฬาไก่ชน หรือเรียกอีกอย่างว่า การตีไก่ นั้นได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในบริเวณทวีปเอเชีย ไม่ว่าจะเป็น ฟิลิปปินส์, ไทย, เมียนมา, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, และกัมพูชา ในส่วนของประวัติศาสตร์กีฬาชนไก่ในแถบทวีปเอเชียนั้นมีมาแต่ช้านาน และเชื่อกันว่าไก่ชนมีพัฒนาการมาจาก ไก่ป่า โดยแต่ก่อนนั้นมนุษย์มีวัตถุประสงค์นำมาเลี้ยงเพื่อใช้ในการประกอบอาหารเลี้ยงดูครอบครัว แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้าไก่ป่าที่นำมาเลี้ยงเพื่อประกอบอาหารก็ได้ขยายพันธุ์เพิ่มเป็นจำนวนมากขึ้น ซึ่งไก่มีนิสัยประจำตัวอย่างหนึ่งคือ จะหวงถิ่นที่อยู่อาศัย หากไก่ตัวอื่นๆ ข้ามเข้ามาในถิ่นของตนก็จะออกปกป้องรักษาถิ่นที่อยู่อาศัย หรือหากมีการผสมพันธุ์กับตัวเมียไก่ตัวผู้ก็จะตีกันเพื่อแย่งไก่ตัวเมีย ซึ่งทำให้ถกเถียงกันระหว่างเจ้าของไก่และด้วยนิสัยของมนุษย์ที่ชอบการเดิมพันทำให้เกิดการแข่งขันกันขึ้น และอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาสายพันธุ์ ไก่ป่า ทำให้เกิดมีวิวัฒนาการเรื่อยมาจวบจนปัจจุบัน
สายพันธุ์ไก่ชนยอดฮิต ที่นิยมเล่นกันในหมู่นักชนไก่ และสำหรับมือใหม่พึ่งเข้าวงการ ต้องห้ามพลาดเลยกับ สายพันธ์ไก่เก่ง 4 สายพันธ์ ชั้นเชิงและลีลาโหดสุด
โดยในอดีตนั้นหากจะพูดถึง “มรดกของไทย” เห็นจะต้องนึกถึงสายพันธุ์ไก่ชนของไทยก็ถือเป็นหนึ่งในนั้น เนื่องจากไก่ชนนั้นมีมาแต่โบราณ ไม่ว่าจะเป็นในยุคสมัยกรุงสุโขทัย สมัยกรุงศรีอยุธยา จวบจนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สายพันธุ์ของไก่ชนนั้นหลายสายพันธุ์ด้วยกัน แต่สายพันธุ์ที่สำคัญที่สุดและคนนิยมเล่น คือ สายพันธุ์ “เหลืองหางขาว” และสายพันธุ์ “ประดู่หางดำ” ซึ่งในสมัยกรุงสุโขทัยนั้นไก่ชนประดู่หางดำพันธุ์แสมดำ ได้รับสมญานามว่า “ ไก่พ่อขุน ” เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ไก่ที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชท่านทรงโปรดเป็นอย่างมาก และในสมัยกรุงศรีอยุธยาสมเด็จพระนเรศวรมหาราชก็ได้ทรงนำไก่สายพันธุ์ “ ไก่เหลืองหางขาว ” จากบ้านกร่าง เมืองพิษณุโลก ไปตีชนะไก่ของพระมหาอุปราชมังสามเกียดแห่งกรุงหงสาวดีในช่วงที่พระองค์ประอยู่ที่กรุงหงสาวดีในฐานะเชลยศึก ไก่สายพันธุ์นี้เป็นที่นิยมเลี้ยงกันเป็นอย่างมาก ตามซุ้มเลี้ยงไก่ชนก็มักจะมีไก่ชนสายพันธุ์เหลืองหางขาว ซึ่งเลี้ยงไว้เพื่อเป็นไก่นำโชคและมักจะนิยมเรียกชื่อว่า “ ไก่เจ้าเลี้ยง ”
กีฬาชนไก่ ยังมีปรากฎอยู่ในวรรณคดีไทยและการละเล่นของไทย เช่น เพลงปรบไก่ ลิลิตพระลอ อิเหนา พระรถเสน การท่อง ก เอ่ย ก ไก่ เป็นต้น การชนไก่ก็จะมีขึ้นในช่วงที่ว่างเว้นจากการทำนา ทำไร่ ทำสวน หรือช่วงหมดฤดูเพาะปลูก เรื่อยมาจนมาถึงในยุคสมัยที่เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย ( จอมพล ป. พิบูลสงคราม ) ที่มีการส่งเสริมให้มีการทำสวนครัวและเลี้ยงสัตว์ ได้มีการนำไก่สายพันธุ์ต่างๆ เช่น พันธุ์โรดไอส์แลนด์เรด พันธุ์ออสตราลอฟ และพันธุ์เล็กฮอร์น มาทำการผสมพันธุ์กับสายพันธุ์ ไก่ชนไทยที่กลุ่มชาวบ้านเลี้ยงกันอยู่ทำให้กลายเป็นไก่พันธุ์ทาง อีกทั้งยังมีการประกาศให้เลิกเลี้ยงไก่ชนอีกด้วย ทำให้ไก่ชนเลือดไทยแท้ในยุคนั้นมีเหลือแอบเลี้ยงกันอยู่บ้างในบางแห่งเท่านั้น ทำให้วงการไก่ชนของบ้านเราเงียบลงไปอย่างมาก แต่เมื่อถึงยุคของรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้มีการฟื้นฟูกีฬาพื้นบ้านอย่างกีฬาไก่ชนขึ้นมาอีกครั้งทำให้กีฬาไก่ชนกลับมาคึกคักจวบจนกระทั่งทุกวันนี้ โดยในปัจจุบันการเลี้ยงไก่ชนนั้นสามารถแบ่งออกได้หลายประเภทด้วยกันตามความนิยม เช่น เพื่อทำธุรกิจส่งออก โดยการเลี้ยงเป็นอุตสาหกรรมในฟาร์มขนาดใหญ่ และเลี้ยงเพื่อทางการค้า โดยการขายเป็นพ่อพันธุ์ในราคาที่สูง หรือเพื่อการนำไปแข่งขัน เป็นต้น
โดยในอดีตตามชนบทเกือบจะแทบทุกหมู่บ้านมีการเลี้ยงไก่ไว้เป็นสัตว์เลี้ยงประจำบ้าน เพื่อไว้ดูเล่น เพื่อความบันเทิง สันทนาการ เป็นอาหารหลักและอาหารเสริม หรือเลี้ยงไว้เพื่อใช้ในการชนแข่งขัน ถ้าจะกล่าวว่าคนไทยกับไก่ มีความผูกพันกันมาอย่างช้านานจนไม่อาจประมาณเวลาได้เห็นจะไม่ผิด ไก่จึงมีความผูกพันกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคมไทยนานับประการ เช่น
- ไก่ เป็นสัตว์เซ่นไหว้บูชาเทพ เทวดา ฟ้า ดิน หรือไว้สำหรับเสี่ยงทาย
- ไก่ มักจะมีอยู่ในบทขับร้องหรือในนิทานสำหรับเด็ก ซึ่งต่างก็จะใช้ไก่เป็นตัวหลักของเรื่อง
- ก ไก่ ยังเป็นพยัญชนะตัวแรกของอักษรไทยอีกด้วย
กีฬาชนไก่สู่สังเวียนการพนัน
กีฬาชนไก่ ถือได้ว่าเป็นการละเล่นพื้นบ้านประเภทหนึ่งที่นิยมกันอย่างแพร่หลายมานานในสังคมชนบท ชาวนา ชาวไร่ เป็นกิจกรรมที่สร้างความบันเทิง สันทนาการ ในวิถีชีวิตของชาวบ้านจนกลายมาเป็นวัฒนธรรม จารีต ความเชื่อที่สร้างความสัมพันธ์ให้กับคนในชุมชน หรือเป็นการพบปะแลกเปลี่ยนเพื่อปรับปรุงสายพันธุ์ไก่ชนให้ทรหด แข็งแกร่ง แข็งแรง และมีลีลาในการต่อสู้ที่ว่องไว และเก่งกาจขึ้นกว่าเดิม
แต่เดิมการชนไก่ มักจะนิยมเล่นชนไก่กันหลังฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิต เช่น ขึ้นปีใหม่ สงกรานต์ หรือตามเทศกาลอื่น ๆ จนเรียกได้ว่า “การชนไก่เป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของคนในชุมชนไทย” ต่อมาการละเล่นพื้นบ้านต่างๆ ที่มีเดิมอยู่หลายประเภท ได้มีการดัดแปลงโดยกระบวนการและการตั้งกฎเกณฑ์เดิมพัน จนกลายเป็นการพนันในที่สุด มีการใช้จิตวิทยาในการเข้าถึงส่วนลึกในจิตใจของคนออกมาให้เนื่องจากคนมีความอยากได้ อยากมี ทำให้เกิดมีความหวัง มีความตื่นเต้นเร้าใจ มีความบันเทิง ซึ่งจะได้มาโดยการเสี่ยงโชคจากแข่งขัน การเดิมพัน
จนกระทั่งการพนันถูกระบุเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายตาม พระราชบัญญัติการพนัน ปี พ.ศ. 2478 ในมาตรา 4 แต่ถึงแม้ประเทศไทยจะมีพระราชบัญญัติการพนัน เพื่อควบคุมการพนันมากว่า 88 ปี แต่ทว่ากฎหมายที่มีอยู่นั้นก็ไม่สามารถยับยั้งการการพนันชนไก่ที่นับวันจะมีแต่เพิ่มขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นบ่อนในลักษณะที่ถูกกฎหมาย หรือเลี่ยงกฎหมาย โดยเฉพาะในยุคของการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและสังคมเข้าสู่ 4.0 ผนวกกับเงื่อนไขปัจจัยของนโยบายรัฐ การละเล่นชนไก่จากการเล่นชนไก่เพื่อความสนุกสนาน ความบันเทิง หลังเกี่ยวข้าวในฤดูหนาว ก็ได้มีการพัฒนาการเปลี่ยนสถานะจากการละเล่นพื้นบ้านสู่สังเวียนการพนันอย่างเต็มรูปแบบ มีเป้าหมายเพื่อเงินเดิมพัน และการชนไก่ก็ถูกดึงเข้าไปอยู่ในการแสวงหาอำนาจและผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม ไม่ใช่แค่เฉพาะกับชาวบ้านเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงไปถึงผู้มีอำนาจอิทธิพล ทั้งในแวดวงนักการเมือง นักธุรกิจ ข้าราชการ หรือตำรวจ ทำให้การแก้ปัญหาการพนันชนไก่มีความสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น
จะเห็นได้ชัดว่า ปัจจุบันค่านิยมของคนไทยบางส่วนได้มีผลกับวิถีชีวิตและมีพฤติกรรมเสพติดในการแสวงหาความสุข ความบันเทิงและคนบางกลุ่มก็ยึดอาชีพจากการพนันเสี่ยงโชคโดยไม่มีการจำกัดชนชั้นหรือการศึกษา การชนไก่ก็เป็นการพนันประเภทหนึ่งที่ส่งผลกระทบในทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ทั้งในระดับครอบครัวและชุมชนโดยรวม ความเชื่อที่สัมพันธ์กับภาคการเกษตรกรรมมาอย่างยาวนาน
จึงกล่าวได้ว่า การชนไก่กับคนไทยมีความผูกพันกันมาจนเป็นวิถีชีวิต วัฒนธรรม เมื่อพูดถึงการพนันไก่ชนจึงมีมุมมองที่แตกต่างกันในแต่ละอาชีพและสายงาน เช่น นักอนุรักษ์จะออกมาต่อต้านการชนไก่ เนื่องจากเป็นการทารุณและทรมานสัตว์ ส่วนในมิติของนักสัตวศาสตร์มองเป็นเพียงการพัฒนาสายพันธุ์ สำหรับผู้เลี้ยงไก่ชนเองก็มองเป็นการสืบทอดภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นและเป็นอาชีพจากช่องทางการหารายได้ใหม่ ในห้วงที่ผ่านมาการกำกับดูแลหรือการบริหารจัดการเรื่องการชนไก่ จึงต้องมีความคลุมเครือเสมอมาระหว่างคำว่า การปราบปราม หรือ การส่งเสริมและ อนุรักษ์
อ้างอิง
เรื่องของไก่ ใครว่าไม่สำคัญ
https://www.lib.ru.ac.th/journal/cock.html